กฎกระทรวงการทำงานเกี่ยวกับนั่งร้านและค้ำยัน
กฎกระทรวง
กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการ
ด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
เกี่ยวกับนั่งร้านและค้ำยัน พ.ศ. ๒๕๖๔
นั่งร้าน คือ โครงสร้างชั่วคราวที่ใช้ในงานก่อสร้าง และงานซ่อมแซม สำหรับให้ผู้ปฏิบัติงานขึ้นไป ก่อสร้างหรือซ่อมแซม และวางวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่าง ๆ ในการทำงาน เมื่อทำงาน จนเสร็จภารกิจนั้นแล้ว นั่งร้านนั้นจะถูกรื้อถอน ตามกำหนดของแผนงานที่วางเอาไว้
ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้ “นั่งร้าน” หมายความว่า โครงสร้างชั่วคราวที่สูงจากพื้นหรือพื้นของอาคาร หรือส่วนของ สิ่งก่อสร้าง สำหรับเป็นที่รองรับผู้ทำงาน วัสดุ หรือเครื่องมือและอุปกรณ์ “ค้ำยัน” หมายความว่า โครงชั่วคราวที่รองรับ ยึดโยง หรือเสริมความแข็งแรง ของโครงสร้างสิ่งก่อสร้าง นั่งร้าน แบบหล่อคอนกรีต หรือเครื่องจักรและอุปกรณ์ในระหว่างการก่อสร้าง การติดตั้ง หรือการซ่อมบำรุง “ค่าความปลอดภัย” หมายความว่า อัตราส่วนของหน่วยแรงหรือน้ำหนักบรรทุกที่ทำให้เกิด การวิบัติต่อหน่วยแรงหรือน้ำหนักบรรทุกที่ใช้งานจริง “วิศวกร” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร
ข้อ ๓ นายจ้างต้องจัดให้มีและดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับสภาพของการทำงานกับนั่งร้านหรือค้ำยัน และลักษณะอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงาน
ข้อ ๔ นายจ้างต้องจัดให้มีข้อบังคับและขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัย ในการทำงานกับนั่งร้านหรือค้ำยัน รวมทั้งต้องอบรมหรือชี้แจงให้ลูกจ้างทราบก่อนเริ่มปฏิบัติงานและควบคุมดูแลให้ลูกจ้างปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และต้องมีสำเนาเอกสารดังกล่าวไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้
ข้อ ๕ นายจ้างต้องกำหนดเขตอันตรายในบริเวณพื้นที่ที่มีการติดตั้งการใช้การเคลื่อนย้ายและการรื้อถอนนั่งร้านหรือค้ำยันโดยจัดทำรั้วหรือกั้นเขตด้วยวัสดุที่เหมาะสมกับ อันตรายนั้น และมีป้าย “เขตอันตราย”แสดงให้เห็นได้ชัดเจน และในเวลากลางคืนต้องจัดให้มี สัญญาณไฟสีส้มตลอดเวลา และห้ามไม่ให้บุคคลซึ่งไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในเขตอันตรายนั้น
ข้อ ๖ นายจ้างต้องติดหรือตั้งป้ายสัญลักษณ์เตือนอันตรายและเครื่องหมายป้ายบังคับ เกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมกับลักษณะงาน เช่น ห้ามเข้า เขตอันตราย ระวังวัสดุตกหล่นให้สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลหรือข้อความอื่นที่เข้าใจง่ายและเห็นได้อย่างชัดเจน
ข้อ ๗ ในการสร้างประกอบ ติดตั้ง ทดสอบ ตรวจสอบ ใช้ เคลื่อนย้าย
และรื้อถอนนั่งร้านนายจ้างต้องปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิต
กำหนดไว้ หากไม่มีรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานดังกล่าว นายจ้างต้องดำเนินการ
ให้วิศวกรเป็นผู้จัดทำรายละเอียด คุณลักษณะและคู่มือการใช้งานเป็นหนังสือและต้องมีสำเนา
เอกสารดังกล่าวไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้ รายละเอียดคุณลักษณะ
และคู่มือการใช้งานตามวรรคหนึ่งต้องเป็นภาษาไทยหรือภาษาอื่น ที่ลูกจ้างสามารถศึกษา
และปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการทำงานได้
ข้อ ๘ นายจ้างต้องจัดให้มีการคำนวณออกแบบและควบคุมการใช้นั่งร้านโดยวิศวกร
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด