ประกาศกสร. เรื่อง หลักสูตรการฝึกอบรมลูกจ้าง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยก - เซฟตี้อินไทย
อบรมหลักสูตรฟรี สำหรับสมาชิก          คลิกที่นี่

บทความ

ประกาศกสร. เรื่อง หลักสูตรการฝึกอบรมลูกจ้าง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยก



       ประกาศกสร. เรื่อง หลักสูตรการฝึกอบรมลูกจ้าง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยก


          โดยที่กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. ๒๕๖๔ กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยก ผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้รถยกแต่ละประเภท ความปลอดภัยในการขับรถยก การตรวจสอบและบำรุงรักษารถยก โดยวิทยากรซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับรถยก ตามหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด

          อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔๐ แห่งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. ๒๕๖๔ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

          ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

          ข้อ ๒ นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยกที่ใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรตามประเภทของรถยก

          ๑) รถยกประเภท warehouse forklift

          ๒) รถยกประเภท side loader

          ๓) รถยกประเภท counterbalance forklift

          ๔) รถยกประเภท telehandler

          ๕) รถยกประเภท industrial forklift

          ๖) รถยกประเภท rough terrain forklift

          ๗) รถยกประเภท walkie stacker

          ๘) รถยกประเภท order picker

          ๙) รถยกประเภท reach truck

          ๑๐) รถยกประเภท reach stacker

          ๑๑) รถยกประเภทอื่น ๆ

          กรณีนายจ้างไม่สามารถจัดให้มีการฝึกอบรมในหลักสูตรตามวรรคหนึ่งได้ ให้นิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการจัดฝึกอบรมตามมาตรา ๑๑ เป็นผู้ดำเนินการ

          กรณีนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยกหรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับรถยกประเภทที่ต้องใช้แรงคนในการเคลื่อนย้ายขณะที่ยกสิ่งของ หรือรถยกประเภทที่ไม่มีต้นกำลังในการขับเคลื่อนหรือรถยกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ต้องให้ลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมตามข้อบังคับและขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งตามรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตกำหนด


          ข้อ ๓ การจัดฝึกอบรมตามหลักสูตรในข้อ ๒ วรรคหนึ่ง นายจ้างหรือนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการจัดฝึกอบรมตามมาตรา ๑๑ ต้องดำเนินการ ดังนี้


          (๑) กรณีนายจ้างเป็นผู้จัดฝึกอบรมให้แจ้งกำหนดการ สถานที่ หลักสูตรการฝึกอบรมตามประเภทของรถยก รายชื่อลูกจ้างที่เข้ารับการฝึกอบรม พร้อมทั้งรายชื่อและคุณสมบัติวิทยากรต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่นายจ้างมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนการจัดฝึกอบรม ทั้งนี้ อาจแจ้งเป็นเอกสารด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
          กรณีมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการ สถานที่ หลักสูตรการฝึกอบรม รายชื่อลูกจ้าง หรือวิทยากร ให้นายจ้างแจ้งรายละเอียดก่อนวันที่ดำเนินการฝึกอบรม

          (๒) จัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เข้ารับการฝึกอบรมเต็มเวลาตลอดหลักสูตรที่กำหนด
          (๓) จัดให้มีเอกสารประกอบการฝึกอบรม วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องจักรหรือรถยก ที่ใช้ในการอบรมตามหลักสูตร
          (๔) การทดสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องผ่านเกณฑ์การประเมินไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ ทั้งนี้ ในการทดสอบภาคปฏิบัติจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและขั้นตอนการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
          (๕) ออกหลักฐานที่แสดงว่าผ่านการฝึกอบรม หนังสือรับรอง หรือวุฒิบัตร โดยมีรายละเอียด

                    (ก) ชื่อหน่วยงานที่ออกหลักฐานแสดงว่าผ่านการฝึกอบรม พร้อมระบุข้อความว่า "จัดฝึกอบรมโดยนายจ้าง" หรือ "จัดฝึกอบรมโดยนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑ ใบอนุญาตเลขที่ ... "
                    (ข) ชื่อและนามสกุลของลูกจ้างหรือบุคคลที่ผ่านการฝึกอบรม
                    (ค) ชื่อหลักสูตรที่ผ่านการฝึกอบรมโดยต้องระบุประเภทของรถยกที่จัดให้มีการฝึกอบรม
                    (ง) สถานที่ตั้งในการฝึกอบรม
                    (จ) วัน เดือน และปี ที่เข้ารับการฝึกอบรม
                    (ฉ) ลงนามโดยนายจ้างหรือนิติบุคคลได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑ แล้วแต่กรณี


                    ทั้งนี้ ผู้จัดให้มีการฝึกอบรมต้องมอบหลักฐานที่แสดงว่าผ่านการฝึกอบรม หนังสือรับรองหรือวุฒิบัตร ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ผ่านการประเมินผลตามหลักสูตร


          (๖) จัดทำทะเบียนรายชื่อผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม วัน เวลาที่ฝึกอบรม รายชื่อวิทยากร

          การดำเนินการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) นายจ้างหรือผู้ดำเนินการจัดฝึกอบรมต้องจัดเก็บหลักฐานหรือเอกสารการดำเนินการเพื่อให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้ ทั้งนี้ จะจัดเก็บอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

          กรณีลูกจ้างย้ายไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ ที่ได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรรถยกตามประเภทนั้น ๆ ตามข้อ ๒ จากสถานประกอบกิจการเดิมแล้วและมีเอกสารหรือหลักฐานการรับรองหรือได้รับวุฒิบัตรที่แสดงว่าได้ผ่านการฝึกอบรม ถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมลูกจ้างซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยกตามประเภทนั้น ๆ ตามประกาศฉบับนี้


          ข้อ ๔ การจัดฝึกอบรมภาคทฤษฎี ต้องจัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีจำนวนห้องละไม่เกินหกสิบคนต่อวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคน


          การฝึกอบรมและทดสอบภาคปฏิบัติต้องจัดให้มีวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคนต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่เกินสิบห้าคนต่อรถยกหนึ่งคัน อุปกรณ์ที่ใช้ในการยกเคลื่อนย้ายอย่างน้อยหนึ่งชุด โดยต้องให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฝึกปฏิบัติและทดสอบภาคปฏิบัติกับอุปกรณ์ในการยกและเคลื่อนย้ายสิ่งของอย่างถูกต้องปลอดภัย ตามสถานที่และเส้นทางที่กำหนด โดยรถยกตามประเภทที่ใช้ในการปฏิบัติงานจริง

          กรณีจัดฝึกอบรม ณ สถานที่อื่นซึ่งมิใช่สถานที่ทำงานของลูกจ้างหรือผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องดำเนินการจัดให้มีรถยกที่ใช้ในการฝึกอบรมเป็นประเภทเดียวกันกับที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมใช้ในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ หัวข้อวิชาและระยะเวลาในการฝึกอบรมต้องครบถ้วนและสอดคล้องตามที่กำหนดในข้อ ๕ และข้อ ๖ แล้วแต่กรณี

 

อบรมขับรถโฟล์คลิฟท์ เรียน+สอบ 1 วันจบ รอรับใบเซอร์ได้เลย!!
อบรมขับรถโฟล์คลิฟท์ เรียน+สอบ 1 วันจบ รอรับใบเซอร์ได้เลย!! จองอบรมตอนนี้

Comments


businessman

ติดต่อสอบถามคลิกไลน์ Safety In Thai ติดต่อสอบถามคลิกไลน์ Safety In Thai ติดต่อสอบถามคลิกไลน์ Safety In Thai