สรุปประเด็น หลักสูตรการฝึกอบรมลูกจ้าง ซึ่งจะทำหน้าที่ผู้ขับรถยก ตามกรมสวัสดิการ
กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างที่ทำหน้าที่ขับรถยกผ่านการฝึกอบรม เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการขับขี่รถยกอย่างปลอดภัยและปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้
ก่อนที่เราจะไปสรุปประเด็นหลักสูตรการฝึกอบรมผู้ขับรถยก เซฟตี้อินไทย ขอพาทุกท่านไปอ่าน กฎหมายฉบับเต็ม กันก่อนนะครับ
ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักสูตรการฝึกอบรมลูกจ้างซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยก
โดยที่กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. ๒๕๖๔ กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยก ผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้รถยกแต่ละประเภท ความปลอดภัยในการขับรถยก การตรวจสอบและบำรุงรักษารถยก โดยวิทยากรซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับรถยก ตามหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔๐ แห่งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. ๒๕๖๔ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๒ นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยกที่ใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์ เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรตามประเภทของรถยก
๑) รถยกประเภท warehouse forklift
๒) รถยกประเภท side loader
๓) รถยกประเภท counterbalance forklift
๔) รถยกประเภท telehandler
๕) รถยกประเภท industrial forklift
๖) รถยกประเภท rough terrain forklift
๗) รถยกประเภท walkie stacker
๘) รถยกประเภท order picker
๙) รถยกประเภท reach truck
๑๐) รถยกประเภท reach stacker
๑๑) รถยกประเภทอื่น ๆ
กรณีนายจ้างไม่สามารถจัดให้มีการฝึกอบรมในหลักสูตรตามวรรคหนึ่งได้ ให้นิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการจัดฝึกอบรมตามมาตรา ๑๑ เป็นผู้ดำเนินการ
กรณีนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยกหรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับรถยกประเภทที่ต้องใช้แรงคนในการเคลื่อนย้ายขณะที่ยกสิ่งของ หรือรถยกประเภทที่ไม่มีต้นกำลังในการขับเคลื่อนหรือรถยกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ต้องให้ลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมตามข้อบังคับและขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยรวมทั้งตามรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตกำหนด
ข้อ ๓ การจัดฝึกอบรมตามหลักสูตรในข้อ ๒ วรรคหนึ่ง นายจ้างหรือนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการจัดฝึกอบรมตามมาตรา ๑๑ ต้องดำเนินการ ดังนี้
(๑) กรณีนายจ้างเป็นผู้จัดฝึกอบรมให้แจ้งกำหนดการ สถานที่ หลักสูตรการฝึกอบรมตามประเภทของรถยก รายชื่อลูกจ้างที่เข้ารับการฝึกอบรม พร้อมทั้งรายชื่อและคุณสมบัติวิทยากรต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักงานสวัสติการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่นายจ้างมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนการจัดฝึกอบรม ทั้งนี้ อาจแจ้งเป็นเอกสารด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้กรณีมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการ สถานที่ หลักสูตรการฝึกอบรม รายชื่อลูกจ้าง หรือวิทยากรให้นายจ้างแจ้งรายละเอียดก่อนวันที่ดำเนินการฝึกอบรม
(๒) จัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เข้ารับการฝึกอบรมเต็มเวลาตลอดหลักสูตรที่กำหนด
(๓) จัดให้มีเอกสารประกอบการฝึกอบรม วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องจักรหรือรถยกที่ใช้ในการอบรมตามหลักสูตร
(๔) การทดสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องผ่านเกณฑ์การประเมินไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ ทั้งนี้ ในการทดสอบภาคปฏิบัติจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและขั้นตอนการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
(๕) ออกหลักฐานที่แสดงว่าผ่านการฝึกอบรม หนังสือรับรอง หรือวุฒิบัตร โดยมีรายละเอียด
(ก) ชื่อหน่วยงานที่ออกหลักฐานแสดงว่าผ่านการฝึกอบรม พร้อมระบุข้อความว่า"จัดฝึกอบรมโดยนายจ้าง" หรือ "จัดฝึกอบรมโดยนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑ ใบอนุญาตเลขที่ ... "
(ข) ชื่อและนามสกุลของลูกจ้างหรือบุคคลที่ผ่านการฝึกอบรม
(ค) ชื่อหลักสูตรที่ผ่านการฝึกอบรมโดยต้องระบุประเภทของรถยกที่จัดให้มีการฝึกอบรม
(ง) สถานที่ตั้งในการฝึกอบรม
(จ) วัน เดือน และปี ที่เข้ารับการฝึกอบรม
(ฉ) ลงนามโดยนายจ้างหรือนิติบุคคลได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑ แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ ผู้จัดให้มีการฝึกอบรมต้องมอบหลักฐานที่แสดงว่าผ่านการฝึกอบรม หนังสือรับรองหรือวุฒิบัตร ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ผ่านการประเมินผลตามหลักสูตร
(๖) จัดทำทะเบียนรายชื่อผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม วัน เวลาที่ฝึกอบรม รายชื่อวิทยากรพร้อมภาพถ่ายกิจกรรมระหว่างการฝึกอบรม
การดำเนินการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) นายจ้างหรือผู้ดำเนินการจัดฝึกอบรมต้องจัดเก็บหลักฐานหรือเอกสารการดำเนินการเพื่อให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้ ทั้งนี้ จะจัดเก็บอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
ข้อ ๔ การจัดฝึกอบรมภาคทฤษฎี ต้องจัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีจำนวนห้องละไม่เกินหกสิบคนต่อวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคน
การฝึกอบรมและทดสอบภาคปฏิบัติต้องจัดให้มีวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคนต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่เกินสิบห้าคนต่อรถยกหนึ่งคัน อุปกรณ์ที่ใช้ในการยกเคลื่อนย้ายอย่างน้อยหนึ่งชุด โดยต้องให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฝึกปฏิบัติและทดสอบภาคปฏิบัติกับอุปกรณ์ในการยกและเคลื่อนย้ายสิ่งของอย่างถูกต้องปลอดภัย ตามสถานที่และเส้นทางที่กำหนด โดยรถยกตามประเภทที่ใช้ในการปฏิบัติงานจริง
กรณีจัดฝึกอบรม ณ สถานที่อื่นซึ่งมิใช่สถานที่ทำงานของลูกจ้างหรือผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องดำเนินการจัดให้มีรถยกที่ใช้ในการฝึกอบรมเป็นประเภทเดียวกันกับที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมใช้ในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ หัวข้อวิชาและระยะเวลาในการฝึกอบรมต้องครบถ้วนและสอดคล้องตามที่กำหนดในข้อ ๕ และข้อ ๖ แล้วแต่กรณี
ข้อ ๕ หลักสูตรการฝึกอบรมลูกจ้างซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยก หัวข้อวิชาและระยะเวลาในการฝึกอบรมต้องไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง รายละเอียดดังต่อไปนี้
(๑) ภาคทฤษฎี อย่างน้อยต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาในการฝึกอบรม ดังนี้
(ก) กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับรถยก กฎหมายเกี่ยวกับรถยกที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานสัญลักษณ์ความปลอดภัยไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง
(ข) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประเภทของรถยกตามลักษณะการใช้งาน ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง
(ค) ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับรถยก กฎระเบียบและข้อบังคับในการทำงานเกี่ยวกับรถยก สาเหตุและกรณีศึกษาการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถยก และมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง
(ง) โครงสร้าง ส่วนประกอบ อุปกรณ์ แผงควบคุมบังคับ ระบบสัญญาณไฟเตือนของรถยกการใช้งาน การตรวจสอบ และการบำรุงรักษา ตามรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานเกี่ยวกับรถยกประเภทนั้น ๆ ไม่น้อยกว่าสองชั่วโมงสามสิบนาที
(๒) ภาคปฏิบัติอย่างน้อยต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาในการฝึกอบรม ดังนี้
(ก) โครงสร้าง ส่วนประกอบ การตรวจสอบ และการบำรุงรักษารถยกตามประเภทนั้น ๆตามหลักสูตร ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง
(ข) ฝึกปฏิบัติขับรถยกประเภทนั้น ๆ ตามเส้นทางตรง ทางโค้ง ทางแยก การหยุด การจอด การให้สัญญาณ การเดินหน้า การถอยหลัง และการยกเคลื่อนย้ายสิ่งของในลักษณะต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าสองชั่วโมงสามสิบนาที
ข้อ ๖ กรณีนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยกปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับรถยกตามประเภทที่แตกต่างไปจากเดิมหรือปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับรถยกแตกต่างจากหลักสูตรเดิมที่เคยเข้ารับการฝึกอบรมนายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมและการทดสอบในหัวข้อวิชาที่เกี่ยวข้องกับรถยกตามประเภทใหม่ที่ให้ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่ โดยอย่างน้อยต้องมีหัวข้อวิชาและรวมระยะเวลาการฝึกอบรมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่าหกชั่วโมง ดังต่อไปนี้
(๑) การฝึกอบรมภาคทฤษฎีอย่างน้อยต้องมีหัวข้อวิชาตามข้อ ๕ (๑) (ง) ระยะเวลาในการฝึกอบรม ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงสามสิบนาที
(๒) การฝึกอบรมภาคปฏิบัติอย่างน้อยต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาในการฝึกอบรม ดังนี้
(ก) โครงสร้าง ส่วนประกอบ การตรวจสอบ และการบำรุงรักษารถยกตามประเภทนั้น ๆ ตามหลักสูตร ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง
(ข) ฝึกปฏิบัติขับรถยกตามเส้นทางตรง ทางโค้ง ทางแยก การหยุด การจอด การให้สัญญาณ การเดินหน้า การถอยหลัง และการยกเคลื่อนย้ายสิ่งของในลักษณะต่าง ๆ ตามประเภทนั้น ๆ ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง
(๓) การทดสอบตามหลักสูตรการฝึกอบรมลูกจ้างซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยกต้องจัดให้มีการทดสอบภาคทฤษฎีและทดสอบภาคปฏิบัติ รายละเอียดดังนี้
(ก) ทดสอบภาคทฤษฎีตามหัวข้อวิชา ข้อ ๕ (๑) (ง) ไม่น้อยกว่าสามสิบนาที
(ข) ทดสอบภาคปฏิบัติขับรถยกในการยกและเคลื่อนย้ายสิ่งของตามประเภทที่สอดคล้องกับหลักสูตร ไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง
ข้อ ๗ วิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับรถยกประเภทนั้น ๆ โดยมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) มีวุฒิทางการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต อุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต วิทยาศาสตรบัณฑิต ซึ่งมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับรถยกประเภทนั้น ๆ ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และมีประสบการณ์เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อวิชาที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(๒) มีวุฒิทางการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม ซึ่งมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับรถยกประเภทนั้น ๆ ไม่น้อยกว่าสามปีและมีประสบการณ์เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อวิขาที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่าสามปี
(๓) เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพซึ่งมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับรถยกประเภทนั้น ๆ ไม่น้อยกว่าสามปี และมีประสบการณ์เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อวิชาที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่าสามปี
(๔) ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการซึ่งมีวุฒิทางการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับรถยกประเภทนั้น ๆไม่น้อยกว่าห้าปี และมีประสบการณ์เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อวิชาที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่าห้าปี
(๕) เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีประสบการณ์ในหัวข้อที่บรรยายไม่น้อยกว่า ๑ ปี
ข้อ ๘ ลูกจ้างผู้ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยกที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับรถยกประเภทนั้น ๆ ตามข้อ ๒ วรรคหนึ่ง ที่มีเอกสารหรือหลักฐานการรับรองหรือได้รับวุฒิบัตรที่แสดงว่าได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรข้างต้นจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ถือว่านายจ้างได้จัดให้ลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมลูกจ้างซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยก ตามประกาศฉบับนี้แล้ว
ข้อ ๙ กรณีลูกจ้างผู้ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยกที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับรถยกประเภทนั้น ๆ และมีเอกสารหรือหลักฐานการรับรอง หรือได้รับวุฒิบัตรที่แสดงว่าได้ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานของรัฐอื่นที่มิใช่ข้อ ๘ หน่วยงานฝึกอบรมภาคเอกชน หรือผ่านการฝึกอบรมจากผู้ผลิต ที่มีระยะเวลาในการเข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า ๑๒ ชั่วโมง ก่อนประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมลูกจ้างซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยก ตามประกาศฉบับนี้แล้ว
กรณีลูกจ้างผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยกที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรจากหน่วยงานตามวรรคหนึ่งที่ระยะเวลาเข้ารับการฝึกอบรมตลอดหลักสูตรน้อยกว่า ๑๒ ชั่วโมง ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมในหัวข้อวิชาและระยะเวลาในการฝึกอบรมตามข้อ ๕ (๑) และทดสอบตามข้อ ๕ (๓) (ก) รวมถึงต้องผ่านเกณฑ์การประเมินไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบ จึงถือได้ว่าเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรการฝึกอบรมลูกจ้างผู้ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยก ตามประกาศฉบับนี้
ทั้งนี้ ในการดำเนินการจัดให้มีการฝึกอบรมตามวรรคสอง ให้นายจ้างหรือนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการจัดฝึกอบรมตามมาตรา ๑๑ ดำเนินการเป็นไปตามข้อ ๓ และข้อ ๔ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๗
สรุป ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักสูตรการฝึกอบรมลูกจ้างซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยก
1. ลูกจ้างซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยก ต้องเข้ารับการฝึกอบรมตามประเภทของรถยก ดังนี้
- รถยกประเภท Warehouse Forklift
- รถยกประเภท Side loader
- รถยกประเภท Counterbalance Forklift
- รถยกประเภท Reach Truck
- รถยกประเภท Telehandler
- รถยกประเภท Industrial forklift
- รถยกประเภท Rough terrain forklift
- รถยกประเภท Walkie stacker
- รถยกประเภท Order picker
- รถยกประเภท Reach stacker
- รถยกประเภทอื่นๆ
2. แจ้งการฝึกอบรม
- แจ้งต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือ
- แจ้งต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด
- แจ้งไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนการจัดอบรม
- แจ้งด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ หรือจดหมายทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail)
3. รายละเอียดที่ต้องแจ้งฝึกอบรม
- กำหนดการ
- สถานที่ฝึกอบรม
- หลักสูตรการฝึกอบรมตามประเภทของรถยก
- รายชื่อลูกจ้างที่เข้ารับการฝึกอบรม
- รายชื่อและคุณสมบัติวิทยากร
4. เกณฑ์การผ่านการฝึกอบรม
- ผู้เข้าอบรม ต้องเข้ารับการฝึกอบรมเต็มเวลาตลอดหลักสูตร
- อบรมภาคทฤษฎี ผู้เข้าฝึกอบรมไม่เกิน 60 คน ต่อวิทยากร 1 คน
- อบรมภาคปฏิบัติ ผู้เข้าฝึกอบรมไม่เกิน 15 คน ต่อวิทยากร 1 คน ต่อรถยก 1 คัน
- มีเอกสารประกอบการฝึกอบรม วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องจักรหรือรถยก
- ผ่านการทดสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
- ออกหลักฐานผ่านการฝึกอบรม เช่น หนังสือรับรอง หรือวุฒิบัตร
5. หนังสือรับรอง หรือวุฒิบัตรผ่านการฝึกอบรม ประกอบด้วย
- ชื่อหน่วยงานที่ออกหลักฐานแสดงว่าผ่านการฝึกอบรม
- ชื่อ – นามสกุล ของลูกจ้างที่ผ่านการฝึกอบรม
- ชื่อหลักสูตรที่ผ่านการฝึกอบรม (ระบุประเภทรถยกที่จัดให้มีการฝึกอบรม)
- สถานที่ตั้งในการฝึกอบรม
- วัน เดือน และปี ที่เข้ารับการฝึกอบรม
- ลงนามโดยนายจ้างหรือนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑
6. การจัดทำเอกสารหลังการฝึกอบรม
- ทะเบียนรายชื่อผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม ระบุ วัน เวลาที่ฝึกอบรม รายชื่อวิทยากร และภาพถ่ายกิจกรรมระหว่างการฝึกอบรม
- จัดเก็บหลักฐานหรือเอกสารการดำเนินการ ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้
7. สำหรับผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว
- ผู้ที่มีเอกสารรับรองหรือวุฒิบัตรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถือว่าเข้ารับการฝึกอบรมตามประกาศฉบับนี้แล้ว
- ผู้ที่มีเอกสารรับรองหรือวุฒิบัตรจากหน่วยงานรัฐอื่น หน่วยฝึกอบรมภาคเอกชน หรือจากผู้ผลิต
- มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง ก่อนประกาศนี้มีผลบังคับ ถือว่าเข้ารับการฝึกอบรมตามประกาศฉบับนี้แล้ว
- มีระยะเวลาน้อยกว่า 12 ชั่วโมง ให้ฝึกอบรมเพิ่มเติม ดังนี้
- อบรมภาคทฤษฎีตามข้อ 5 (1) ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง 30 นาที
- ทดสอบภาคทฤษฎีตามข้อ 5 (1) ไม่น้อยกว่า 30 นาที