เต้ารับไฟฟ้า ทำไมต้องมีหลายสี
เต้ารับไฟฟ้า
ทำไมต้องมีหลายสี ?
เต้ารับ (Socket-outlet หรือ Receptacle) หรือปลั๊กตัวเมีย คือ ขั้วรับสำหรับหัวเสียบจากเครื่องใช้ไฟฟ้า ปกติเต้ารับจะติดตั้งอยู่กับที่ เช่น ติดอยู่กับผนังอาคาร อาจมีทั้งแบบ 2 รู หรือ 3 รู
สีปลั๊กไฟหรือเต้ารับไฟฟ้า (Receptacle) ทำไมถึงมีหลายสี เช่น สีขาว สีแดง และ สีเหลือง
การมีหลายสีเพื่อแยกให้รู้ว่าเต้ารับไฟฟ้าจุดนั้น เป็นเต้ารับไฟประเภทใด คือ
1) เต้ารับสำหรับไฟทั่วไป (Normal circuit) ที่มีแหล่งจ่ายไฟจากการไฟฟ้า เวลาไฟการไฟฟ้าดับก็จะใช้ไม่ได้ (อันนี้ไม่กำหนดสี แต่ส่วนใหญ่ทั่วไปจะใช้สีขาว)
2) เต้ารับสำหรับกรณีฉุกเฉิน (Emergency circuit) ที่รับไฟจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือ UPS หากไฟการไฟฟ้าดับเต้ารับนี้ก็ยังสามารถใช้ได้ (สำหรับข้อกำหนดในการออกแบบระบบไฟฟ้าในสถานพยาบาลจะกำหนดเต้ารับชนิดนี้เป็นสีแดง)
3) เต้ารับพิเศษ เป็นเต้ารับที่แยกสีพิเศษออกไป ส่วนใหญ่จะเห็นในห้องผ่าตัดที่ใช้ระบบจ่ายไฟเป็นแบบแยกแหล่งจ่ายไฟ (Isolated circuit) เพื่อความปลอดภัยของคนไข้และเจ้าหน้าที่ในห้องผ่าตัด (สำหรับข้อกำหนดในการออกแบบระบบไฟฟ้าในสถานพยาบาลจะกำหนดเต้ารับชนิดนี้เป็นสีเหลือง)
เต้าเสียบ (Plug) หรือปลั๊กตัวผู้ คือ ขั้วหรือหัวเสียบที่มีสายไฟติดอยู่กับเครื่องใช้ไฟฟ้า มีขาโลหะยื่นออกมา 2 ขา หรือ 3 ขา เพื่อเสียบเข้ากับเต้ารับ ทำให้สามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นได้
ปลั๊กสามตา มีคำเรียกอย่างเป็นทางการว่า “รางเต้ารับ” หรือ “เต้ารับที่ทำเป็นชุด” ในภาษาอังกฤษเรียก Extension Socket ในอดีตที่ติดตลาดได้รับความนิยม และเห็นบ่อยที่สุด คือ แบบตลับกลมๆ หมุนเก็บสายไฟไว้ด้านในได้ และมีช่องเสียบปลั๊กแบบ 2 ขา อยู่ทั้งหมด 3 ช่อง จึงทำให้นิยม
เรียกกันว่า “ปลั๊กสามตา”
ปัจจุบันปลั๊กสามตาพัฒนารูปลักษณ์ทันสมัยขึ้น พร้อมเพิ่มช่องเสียบเป็น 4 ช่อง หรือ 6 ช่อง มีให้เลือกหลายรูปแบบ หลายราคา แต่ยังนิยมเรียกชื่อเดิมซึ่งในการเลือกซื้อควรเลือกที่ได้มาตรฐาน มอก. 166/2549 มีสปริงของเต้ารับ (หรือตัวล็อกขาเต้าเสียบ) ทำจากทองเหลือง ตัวกล่องฉนวนทำจากพลาสติก ABS และมีระบบตัดไฟอัติโนมัติ หรือมีฟิวส์ในตัว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ในกรณีไฟฟ้าลัดวงจร
ที่มา : เต้าเสียบหรือปลั๊ก (Plug) หรือปลั๊กตัวผู้ – http://www.mea.or.th, เต้ารับ (Socket-outlet หรือ Receptacle) หรือปลั๊กตัวเมีย – http://www.mea.or.th, วารสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 82, นิตยสารบ้านและสวน ปีที่ 34 ฉบับที่ 402 กุมภาพันธ์ 2553
รวบรวมข้อมูลโดย : งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด
Facebook : ห้องไฟฟ้า (Electrical Room)