4 ขั้นตอนที่ต้องทำเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้
4 ขั้นตอนที่ต้องทำเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้
ทฤษฎีการเกิดเพลิงไหม้
การสันดาป หรือการเผาไหม้ (COMBUSTION) คือ ปฏิกิริยาเคมี ที่เกิดจากการรวมตัวของ
เชื้อเพลิงกับออกซิเจน ซึ่งเป็นผลให้เกิดความร้อนและแสงสว่างกับสภาพการเปลี่ยนแปลง
ไฟจะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วย องค์ประกอบ 3 อย่าง หรือเรียกว่า ทฤษฎีสามเหลี่ยมของไฟ คือ
1. เชื้อเพลิง
2. ความร้อน
3. ออกซิเจน
กระบวนการปฏิบัติงานตามแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย
ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (Work Flow)
แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
(1) การปฏิบัติก่อนเกิดอัคคีภัย เป็นการดำเนินการต่างๆ เพื่อป้องกัน
และเตรียมการเผชิญเหตุการณ์อัคคีภัยไว้ล่วงหน้า โดยกำหนดให้มีการตรวจตรา
ระบบความปลอดภัย การฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและระงับ
อัคคีภัย การฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย การรณรงค์ป้องกันอัคคีภัย
การเตรียมพร้อมสำหรับการอพยพและการเตรียมพร้อมเพื่อสนับสนุนการดับเพลิง
(2) การปฏิบัติระหว่างเกิดอัคคีภัย เป็นการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้การ
ปฏิบัติเมื่อเกิดอัคคีภัยเป็นไปอย่างมีระบบ มีการกำหนดแนวปฏิบัติระหว่าง
เกิดอัคคีภัยในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ
(3) การปฏิบัติหลังเกิดอัคคีภัยเป็นการดำเนินการต่างๆ เพื่อสำรวจ
รวบรวมข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นและฟื้นฟู/ปรับปรุง/แก้ไขพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือดีกว่าเดิมโดยเร็วที่สุด
(4) การติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน เป็นการดำเนินงาน
เพื่อให้การปฏิบัติตามแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยของกรมป้องกันและบรรเทา
สาธารณภัยเป็นไปอย่างมีระบบ มีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม
ขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเกิดเพลิงไหม้
ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้ ควรปฏิบัติดังนี้
1.1 แจ้งเหตุด้วยสัญญาณเตือนภัย และแจ้งเหตุเพลิงไหม้ให้คนรอบข้างทราบ
1.2 แจ้งเหตุเพลิงไหม้ต่อหน่วยงานระงับเหตุฉุกเฉินขององค์กร โดยแจ้งข้อมูลสำคัญให้ทราบดังนี้
- ประเภทของเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น เช่น เพลิงไหม้ ระเบิด สารเคมีหกรั่วไหล เป็นต้น
- สถานที่เกิดเหตุฉุกเฉิน โดยระบุอาคารและบริเวณตำแหน่งที่เกิดเพลิงไหม้ให้ชัดเจนเวลาที่เกิดเหตุ
- สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ (ถ้าทราบสาเหตุ)
- แจ้งชื่อผู้แจ้งเหตุ สถานที่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้แจ้งเหตุ หรือหมายเลขที่สามารถติดต่อกลับได้
- อย่าวางสายโทรศัพท์ก่อนผู้รับแจ้งเหตุ เนื่องจากผู้รับแจ้งเหตุอาจต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
1.3 หยุดกระบวนการผลิตหรือเครื่องจักที่อาจก่อให้เกิดอันตราย
1.4 ในกรณีเพลิงไหม้เล็กน้อย อาจใช้เครื่องดับเพลิงที่อยู่ใกล้เคียงระงับเหตุเพลิงมาแล้ว
1.5 หากไม่สามารถดับเพลิงในเบื้องต้นได้ ให้ปิดประตูและหนีออกจากที่เกิดเหตุทันที
2. การอพยพหนีไฟ เมื่อได้รับทราบว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น ให้อพยพออกจากบริเวณที่เกิดเหตุทันทีและเพื่อความปลอดภัย ควรปฏิบัติดังนี้
2.1 อพยพออกจากที่เกิดเหตุทางบันได ไปตามเส้นทางหนีไฟที่ไปยังทางออกที่ใกล้ที่สุด ห้ามใช้ลิฟต์
2.2 อย่านำสิ่งของขนาดใหญ่ติดตัวไปด้วย ขณะอพยพหนีไฟ
2.3 อพยพออกจากที่เกิดเหตุอย่างเป็นระเบียบ อย่าวิ่ง หรือผลักกัน
2.4 เมื่ออพยพออกจากที่เกิดเหตุให้ไปยังจุดรวมพล (บริเวณที่ปลอดภัย) ที่กำหนดไว้ อย่ากลับเข้าไปที่เกิดเหตุอีกจนกว่าจะได้รับแจ้งว่าเหตุการณ์สงบ
และเข้าสู่สภาวะปกติ
3. การระงับเหตุเพลิงไหม้ ผู้ปฏิบัติการระงับเหตุฉุกเฉิน เมื่อได้รับแจ้งเหตุเพลงไหม้ ควรปฏิบัติดังนี้
3.1 เตรียมตัวให้พร้อม รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการดับเพลิง และไปยังที่เกิดเหตุ โดยเร็วที่สุด
3.2 ตรวจสอบเพื่อให้ทราบประเภทของเพลิงไหม้ และประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของเพลิงไหม้
3.3 ดับเพลิงโดยใช้เครื่องดับเพลิงชนิดที่เหมาะสมกับประเภทของเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น
4. การช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ในกรณีที่พบผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ควรปฏิบัติดังนี้
4.1 แจ้งหน่วยงานระงับเหตุฉุกเฉินขององค์กรให้ทราบตำแหน่ง และบริเวณที่พบผู้บาดเจ็บ เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บสามารถเข้าช่วยเหลือได้โดยเร็ว
4.2 อย่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บโดยไม่ทราบวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง การช่วยเหลืออย่างไม่ถูกวิธีอาจเป็นอันตรายต่อผู้บาดเจ็บได้
4.3 อย่าเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ หากไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกและกระดูกสันหลัง
4.4 ทำการปฐมพยาบาลในกรณีที่จำเป็น เช่น สารเคมีเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาด เป็นแผลเลือดออก มากให้ใช้ผ้าสะอาดกดที่ปากแผลเพื่อห้ามเลือด เป็นต้น