รับมือเหตุฉุกเฉินจากสารเคมี วิธีปฐมพยาบาลผู้ได้รับพิษจากการสูดดม
ทุกวันนี้เราใช้สารเคมีในชีวิตประจำวันโดยไม่ทันคิดถึงอันตรายที่อาจแฝงมา ไม่ว่าจะเป็นในโรงงานอุตสาหกรรม ห้องแล็บ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงในครัวเรือนที่มีน้ำยาล้างห้องน้ำ ยาฆ่าแมลง หรือแม้แต่กลิ่นจากสีทาบ้าน และเมื่อเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น การรั่วไหล การเผาไหม้ หรืออุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารพิษในอากาศ การรับมืออย่างรู้เท่าทัน และการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีสามารถช่วยชีวิตคนได้
สารพิษที่พบบ่อยและอันตรายเมื่อสูดดมเข้าไป
การสูดดมสารพิษเป็นทางเข้าสู่ร่างกายที่อันตรายที่สุด เพราะส่งตรงเข้าสู่ปอด และกระจายไปยังระบบไหลเวียนโลหิตในเวลาอันรวดเร็ว เรามาทำความรู้จักกับสารพิษที่อันตราย และพบบ่อยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)
- อาการ: วิงเวียน หน้ามืด คลื่นไส้ หมดสติ เพราะเซลล์ร่างกายขาดออกซิเจน
- แหล่งที่มา: การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ในเครื่องยนต์ รถยนต์ เครื่องทำน้ำอุ่น เตาแก๊ส เตาอั้งโล่ในบ้าน
- จุดน่ากลัว: ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่รู้ตัวว่ากำลังสูดดม
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO₂)
- อาการ: ระคายเคืองจมูก หลอดลม ไอ หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก
- แหล่งที่มา: จากการเผาไหม้ของถ่านหิน น้ำมัน หรือกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
- อันตราย: หากได้รับมากจะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอักเสบและเป็นอันตรายต่อปอดในระยะยาว
สไตรีนโมโนเมอร์ (C₈H₈)
- อาการ: มึนงง เวียนหัว ปวดหัว สับสน
- แหล่งที่มา: พลาสติก โฟม ยาง หรือเรซิน
- ผลต่อสุขภาพ: สะสมในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง เป็นสารต้องสงสัยว่าอาจก่อมะเร็งได้ในระยะยาว
ก๊าซแอมโมเนีย (NH₃)
- อาการ: แสบตา ตาบวม น้ำตาไหล แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก และในบางกรณีรุนแรงอาจทำให้ปอดบวมน้ำ
- แหล่งที่มา: โรงงานน้ำแข็ง การผลิตปุ๋ย โรงงานยา และพบในของใช้ภายในบ้านบางชนิด
- ข้อควรระวัง: แม้มีกลิ่นชัดเจน แต่ก็สามารถทำลายเนื้อเยื่อทางเดินหายใจอย่างรวดเร็ว
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อพบผู้ได้รับสารพิษ
เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจากสารเคมี โดยเฉพาะในกรณีที่มีการสูดดมสารพิษเข้าไป การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่รวดเร็ว ถูกต้อง และมีลำดับขั้นตอน จะสามารถช่วยชีวิตผู้ประสบเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อไปนี้คือ 4 ขั้นตอนพื้นฐานในการปฐมพยาบาลผู้ได้รับสารพิษจากการสูดดม ซึ่งควรเรียนรู้และจดจำไว้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ขั้นตอนที่ 1: สัมผัสสารเคมี – ล้างร่างกายทันที
หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีการสัมผัสกับสารเคมีร่วมด้วย ไม่ว่าจะในรูปของไอระเหย ฝุ่น หรือของเหลว ควรรีบใช้น้ำสะอาดล้างร่างกายทันที โดยเฉพาะบริเวณที่เปื้อน เช่น มือ แขน ใบหน้า หรือเสื้อผ้า
ขั้นตอนที่ 2: เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท
ถ้าผู้ป่วยยังอยู่ในบริเวณที่มีสารพิษ เช่น ห้องปิด พื้นที่อับอากาศ หรือบริเวณรั่วไหล
ให้รีบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกมายังจุดที่มีอากาศถ่ายเทดี เช่น หน้าต่างที่เปิดอยู่ โถงอาคาร หรือภายนอกอาคารโดยเร็วที่สุด
ขั้นตอนที่ 3: โทรแจ้งสายด่วน 1669
การแจ้งทีมแพทย์ฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว คือกุญแจสำคัญในการช่วยเหลือ
เมื่อโทรแจ้งหมายเลข 1669 ให้แจ้งข้อมูลเหล่านี้อย่างชัดเจน
- ประเภทของสารเคมี (ถ้าทราบ)
- อาการของผู้ป่วย
- จำนวนผู้ประสบเหตุ
- สถานที่เกิดเหตุโดยละเอียด
ขั้นตอนที่ 4: ประเมินการหายใจ – ทำ CPR หากจำเป็น
ให้สังเกตว่าผู้ป่วยยังหายใจอยู่หรือไม่ หากพบว่า:
- ไม่มีลมหายใจ
- หัวใจหยุดเต้น
- ไม่รู้สึกตัวและไม่มีการตอบสนอง
ให้ทำการปั้มหัวใจ (CPR) ทันที โดยเฉพาะหากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือรอรถพยาบาลนาน
ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะสามารถทำ CPR ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ถ้ายังไม่เคยฝึก CPR ควรเข้าร่วมการฝึกอบรมที่จัดโดยโรงพยาบาล หรือหน่วยงานฝึกอบรมด้านความปลอดภัย
แนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์
- ใช้สารเคมีตามคำแนะนำของฉลากเสมอ
- ห้ามนำภาชนะเก็บสารพิษมาใช้ซ้ำกับของกิน
- สวมหน้ากากป้องกันกลิ่นและไอระเหยทุกครั้งเมื่อใช้สารเคมี
- ติดตั้งระบบระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ที่ใช้สารเคมีบ่อย
- จัดอบรมให้พนักงานทุกระดับรู้จักการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย
สรุป
เหตุการณ์เกี่ยวกับสารเคมีไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ทั้งอุบัติเหตุจากโรงงาน รถขนสารเคมีพลิกคว่ำ ไปจนถึงในบ้านที่ลืมปิดเตาแก๊ส ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ภายในวินาทีเดียว การมีความรู้คือการสร้างเกราะป้องกันที่ดีที่สุด
หากคุณเป็นหัวหน้างาน ผู้ดูแลด้านความปลอดภัย หรือแม้แต่เจ้าของบ้านทั่วไป จงจำไว้ว่าความรู้ไม่เคยสิ้นเปลือง การปฐมพยาบาลอาจไม่ได้ทำให้หายทันที แต่ทำให้ “รอดทันเวลา”
เซฟตี้อินไทย ฝากไว้ให้คิด — หยุดหายใจไม่กี่นาที อาจเปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล
ที่มา : กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม'รู้โรคร้ายๆ วัยทำงาน"